23 August 2007

Radiation Oncologist

อยากเอาประสบการณ์และความคิดเห็นส่วนตัวของการ training ด้านมะเร็ง มาแชร์ให้เพื่อน ๆ ฟังกัน ในฐานะผู้ดูแลสุภาพ

เคส 1- คนไข้มาตราจสุขภาพธรรมดาทั่วไปทุกปี เอกซเรย์ปอดพบว่าตัวเองเป็นมะเร็งปอดระยะท้ายซะแล้ว ทั้ง ๆ ที่เอกซเรย์ปอดปีที่แล้วยังปกติดีอยู่เลย (ปกติก็ควรจะตรวจสุขภาพปีละครั้ง)
ความเห็น : รายนี้ทำให้เราเกิดความคิดที่ว่าการตรวจสุขภาพปีละครั้งมันพอแล้วเหรอ ? ขนาดคนใส่ใจสุขภาพขนาดนี้

เคส 2- คนไข้อายุน้อย ๆ (ประมาณ 20+ ปี) แข็งแรงดีมาตลอด รู้ตัวอีกทีก็กลายเป็นมะเร็งซะแล้ว แถมยังไม่พอ การตอบสนองต่อการรักษาก็ไม่ดีอีก สุดท้ายมะเร็งก็กระจายไปที่อื่น ๆ ซึ่งรักษาอะไรไม่ได้มากแล้ว แต่คนไข้เค้าก็ยังดูปกติแข็งแรงดีอยู่เชียว แถมยังมาถามอีกว่า "หมอ... ผมจะอยู่ได้อีกนานแค่ไหน?"
ความเห็น : เจอหมัดเด็ดนี้เข้าไปก็อึ้งเหมือนกัน ไม่รู้จะตอบเค้ายังไงเหมือนกัน คือถ้ามะเร็งมันกระจายแล้วเนี๊ยะ ก็อยู่ได้ไม่นานหรอก แต่คนไข้เค้าก็ยังแข็งแรงดี ไม่มีอาการอะไรเลย แล้วจะให้เราบอกได้อย่างไร อันนี้อยากจะบอกให้รู้ว่า มะเร็งไม่ใช่ว่าจะเป็นกับคนอายุมาก ๆ เท่านั้น ทุกคนมีความเสี่ยงหมด

เคส 3- คนไข้เป็นมะเร็งระยะแรก ๆ ซึ่งมะเร็งชนิดนั้น สามารถรักษาหายขาดได้ ประมาณ 90กว่า % (เช่น มะเร็งปากมดลูก , มะเร็งกล่องเสียง) แต่ก็มีคนไข้บางคนที่ซวยมาก ตกอยู่ในไม่กี่เปอร์เซนต์หลัง มะเร็งกระจายหรือกลับมาเป็นซ้ำอีก
ความเห็น : แม้มะเร็งระยะแรก ๆ จะสามารถรักษาหายขาดได้ แต่ก็จะมีบางคนที่โชคร้ายซ้ำแล้วซ้ำเล่า

เคส 4- อันนี้เป็นคนใกล้ตัวสุด ๆ เพื่อนหมอด้วยกันเองนี่แหละ.... ไปเล่นฟุตบอลแล้วโดนเสียบขาหักไปเลย
เอกซเรย์แล้วนึกว่าแค่กระดูกหักธรรมดา แต่ที่ไหนได้เป็นมะเร็งที่กระดูก แล้วมันกินกระดูกจนบาง พอโดนเสียบแรง ๆ ก็เลยหักไปเลย ตอนนี้ให้ยาเคมีบำบัดอยู่ และอาจจะต้องตัดขาข้างนั้นทิ้งไป คิดดูล่ะกันชีวิตเค้ากำลังไปได้สวย มีลูก มีเมียแล้ว และกำลังเรียนต่อเฉพาะทางในสาขาที่ตัวเองชอบ ทุกอย่างกำลังจะ perfect แต่อะไร ๆ มันก็ไม่แน่ไม่นอนเสมอไป

ตั้งแต่มา training ด้าน oncology (มะเร็ง) แล้ว ก็ค้นพบสัจธรรมชีวิตว่า คนเราถ้ามันถึงเวลาจะไป มันก็ห้ามไม่ได้จริง ๆ ทุกวันนี้ต้องทำใจไว้ว่าชีวิตเราไม่แน่นอน ตายได้ทุกเมื่อ เพราะฉะนั้นก็ทำทุกวันของเราให้เป็นวันที่ดีที่สุด คิดในสิ่งดี ๆ และอยู่กับชีวิตที่เหลือของเราอย่างมีความสุข เพื่อจะได้ไม่เสียใจภายหลัง

Knowleage : อาการของมะเร็งระยะเริ่มแรกจะไม่เฉพาะเจาะจง เช่น อืดแน่นท้องบ่อย ๆ (นึกว่าเป็นโรคกระเพาะ), เจ็บคอบ่อย ๆ (นึกว่าเป็นคออักเสบธรรมดา), คัดจมูกบ่อย ๆ (นึกว่าเป็นภูมิแพ้) , ปวดที่จุดเดิม ๆ บ่อย ๆ Etc. หรือไม่มีอาการอะไรมาก่อนเลยก็ได้ การวินิจฉัยมะเร็งให้ได้ครั้งแรกเลยจึงเป็นเรื่องยาก และไม่มีหมอคนไหนที่จะคิดว่าคนไข้เป็นมะเร็งตั้งแต่ครั้งแรก เนื่องจากมันเป็นโรคที่ไม่ได้เป็นกันได้ง่าย ๆ และบ่อยเหมือนไข้หวัด ดังนั้นกว่าจะวินิจฉัยก็เป็นระยะกลางถึงท้ายแล้ว...

คราวนี้เขียนซะซีเรียสเชียว... แต่เวลาทำงานเราก็ไม่ได้เครียดอะไรขนาดนั้น ... แค่ต้องทำใจบ่อย ๆ เท่านั้นเอง แต่เรียนด้านนี้ก็ดีนะ ได้ไปเที่ยวไปประชุมบ่อย ๆ เชียว คราวก่อนก็ไปพักที่โรงแรม Sherraton พัทยา ห้องพักหรูมาก อาหารก็หรู เดี๋ยวก็จะไปประชุมที่ Sherraton กระบี่อีก ลืมบอกว่าฟรีตลอดงาน อนาคตก็ดูสดใสเพราะอาจได้ไปต่างปประเทศบ่อย ๆ (ไปศึกษาดูงาน และทำวิจัย) ถือโอกาสโปรโมตสาขาตัวเองซะเลย เผื่อมีคนสนใจจะมาเรียนต่อด้านนี้

1 comment:

Anonymous said...

Keep up the good work.